
ดนตรีในงานแต่งงาน ไม่ได้มีแค่เล่นไปอย่างนั้นๆ หรือแค่เป็นส่วนประกอบที่ต้องมีให้ครบ เพราะหน้าที่ที่แท้จริงของดนตรีงานแต่งงานนั้น นอกจากจะช่วยขับกล่อมผู้คนภายในงาน สร้างบรรยากาศในงานให้ชื่นมื่น งานดำเนินไปอย่างราบรื่นแล้ว ดนตรีงานแต่งงานยังจะต้องสามารถสร้างความโดดเด่นของคู่บ่าวสาวให้ถูกจังหวะและสามารถควบคุมแขกในงานได้ด้วย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากพอสมควรที่จะทำให้ตลอดทั้งงานดำเนินไปอย่าง Smooth และลงตัว
ดังนั้นการเลือกวงดนตรีดีๆ จึงมีความสำคัญสำหรับงานแต่งงานมาก เพราะถ้าได้วงดนตรีกับทีมเครื่องเสียงที่เป็นงาน แล้วจัดแจงหาคนมาช่วยคุมเวลาพร้อมกับมีพิธีกรดีๆ อีกสักคน แค่นี้งานออร์แกไนซ์ก็ไม่ต้องตกมาถึงมือคู่บ่าวสาว แค่คอยทำหน้าหล่อสวยต้อนรับแขกและก็พอ ที่เหลือยกให้เป็นหน้าที่ของวงดนตรีและทีมเครื่องเสียงจัดการต่อไปในแต่ละช่วงได้เลย
1.ดนตรีในช่วงที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวถ่ายรูปหน้างาน
ดนตรีในงานควรจะเริ่มบรรเลงตั้งแต่ช่วงที่แขกเริ่มเข้างาน เพราะไม่อย่างนั้นบรรยากาศในงานจะดูเงียบๆ มีแต่แขกนั่งอยู่ด้วยกันเองเท่านั้น เพราะคู่บ่าวสาวและเจ้าภาพยังต้องคอยต้อนรับแขกอยู่หน้า บางงานที่ไม่มีวงดนตรีอาจจะเปิดแผ่นแทนได้ ถ้าไม่มีดนตรีเลยจะทำให้แขกรู้สึกแปลกๆ งงๆ ได้

2.ดนตรีในช่วงที่คู่บ่าวสาวเดินเข้างาน
ในงานที่ไม่มี Organizer และไม่มีวงดนตรี ช่วงที่คู่บ่าวสาวเดินเข้างาน ส่วนใหญ่มักจะลืมเปิดเพลงในช่วงนี้ แขกบางคนอาจจะงงๆ ว่าทำไมเพลงเงียบ อีกทั้งยังทำให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวที่เดินเข้างานมาไม่ค่อยเด่น กว่าแขกจะรู้เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็อยู่บนเวทีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในตอนนี้ถ้ามีวงดนตรี นักดนตรีจะเปลี่ยนไปเล่นเพลงที่ช้าๆ ซึ้งๆ เพื่อให้แขกในงานรู้และหันไปให้ความสนใจคู่บ่าวสาว พร้อมทั้งยังช่วยควบคุมให้เพลงจบลงพอดีกับที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวขึ้นไปยืนบนเวทีพอดี
3.ดนตรีในช่วงมหาฤกษ์
หลังจากที่ประธานอวยพรคู่บ่าวสาวจบ ดนตรีมหาฤกษ์จะต้องสอดรับขึ้นมาทันที ถ้าเป็นการเปิดจากแผ่นจะเลือกเวอร์ชั่นที่เหมาะสมกับงานแต่งงานแต่ละงานได้ยาก เพราะเพลงมหาฤกษ์แบบวงดุริยางค์กองทัพก็อาจจะดูยิ่งใหญ่เกินไปสำหรับงานแต่งบางงาน หรือแบบวงปี่พากย์ไม้แข็งที่ฟังโบราณก็อาจไม่เหมาะกับงานที่ดูหรูหรา ทันสมัย ถ้าเป็นวงดนตรีก็จะสามารถเล่นขึ้นต้นได้ทันทีตอนประธานพูดจบด้วยสเกลของดนตรีที่เหมาะสมกับขนาดและรูปแบบของงาน

4. ดนตรีช่วงตัดเค้ก
ช่วงนี้ควรเลือกเป็นเพลงบรรเลง ไม่ควรใช้เพลงที่มีเนื้อร้อง เพราะจะดึงความสนใจจากแขกในงานได้ ซึ่งช่วงนี้จะเลือกเปิดจากแผ่นหรือใช้วงดนตรีก็ได้ แต่การเลือกใช้วงดนตรี นักดนตรีจะสามารถควบคุมการเริ่มและจบเพลงได้ดีกว่าเปิดจากแผ่น
5. ดนตรีช่วงแจกเค้กให้ญาติผู้ใหญ่และประธาน
ช่วงแจกเค้กจะเป็นอีกช่วงหนึ่งที่มักจะลืมเตรียมเพลงกันไว้ ทำให้แขกบางคนคิดว่างานจบแล้วหรืออาจทำให้แขกที่ไม่ได้รับแจกเค้กรู้สึกเบื่อได้ การมีเสียงเพลงไม่ว่าจะเป็นเพลงบรรเลงหรือเพลงร้องจะช่วงให้แขกในงานมีชีวิตชีวามากขึ้น
6.ดนตรีในช่วงก่อนและขณะโยนดอกไม้
ในช่วงที่เจ้าสาวกำลังจะโยนช่อดอกไม้ นักดนตรีจะเล่นเพลงที่ช่วยให้ผู้มาร่วมรับช่อดอกไม้และแขกในงานรู้สึกสนุกได้ ถ้าในงานที่มีแต่เสียงพูดของพิธีกรแต่โดยไม่มีเสียงเพลง จะทำให้ผู้ที่ออกมารับช่อดอกไม้รู้สึกเขินหรืออาจไม่กล้าออกมาเลยก็ได้ นอกจากนี้นักดนตรียังสามารถเล่นเสียง Effect เมื่อดอกไม้ตกถึงมือผู้รับได้พอดี พร้อมกับช่วยเรียกเสียงปรบมือจากแขกในงาน ทำให้บรรยากาศในงานเกิดความสนุก ตื่นเต้น ไม่ทำให้แขกเกิดความรู้สึกว่าพิธีการขาดช่วง
7. ดนตรีในช่วงหลังพิธีการ
หลังจากจบพิธีการต่างๆ ช่วงนี้วงดนตรีจะเล่นเพลงรักซึ้งๆต่อเนื่องกันไป แขกที่ต้องการจะกลับก็สามารถลุกออกไปโดยไม่เก้อเขิน แต่ถ้างานเงียบไปเลยแขกจะรู้สึกขัดเขินได้ ส่วนแขกที่ต้องการจะอยู่ฟังเพลงอีกสักพักหรือพูดคุยกันต่อก็จะไม่รู้สึกเบื่อ

8. ดนตรีงานแต่งงานในช่วง After Party
ในปัจจุบันงานแต่งงานหลายๆ งานที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวเป็นคนสนุกสนานเพื่อนฝูงเยอะ หลังจากที่พิธีการต่างๆ จบลงแล้ว มักจะมีดนตรีสนุกๆ ให้เพื่อนๆ เจ้าบ่าวเจ้าสาวขาแดนซ์ได้ออกมาวาดลีลาลวดลายกันบนฟลอร์ เผลอๆ เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็ลงมาร่วมวงแดนซ์กระจายเพิ่มความมันส์กับเค้าด้วยเหมือนกัน ซึ่งถ้าจะมี After Party แบบนี้เลือกใช้วงดนตรีแบบมีนักร้องจะดีกว่า แต่ก่อนอื่นคงต้องเช็กกันก่อนนิดนึง ว่าสถานที่จัดงานนั้นเสียงดังได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้ไม่มีปัญหามาให้หมดสนุกทีหลัง
รู้อย่างนี้แล้ว คงพอจะช่วยให้ว่าที่คู่บ่าวสาวทั้งหลายวางแผนการจัดการงานแต่งงานและตัดสินใจเลือกใช้วงดนตรีแบบไหนกันดี เพื่อให้งานแต่งงานของคุณเป็นงานที่สุดแสนประทับใจไม่ว่าจะเป็นตัวคุณเองหรือแขกเหรื่อในงานก็ตาม
เรียบเรียงโดย: Peachy Pat