"กินแขกแต่งงาน" เรื่องเล่าจากล้านนาแต๊ๆ

เครดิตรูปภาพจาก NOPPADOL PHOTOGRAPHY
ขบวนประเพณีพิธีกรรมทางชีวิตเริ่มแต่เกิด-บวชเรียน-ทำมาหากิน-และธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีคู่และแยกเหย้าเรือน......ตามธรรมเนียมทางล้านนา เมื่อพ่อหนุ่มเติบโตในวัยอันควรที่จะมีเมียได้ ก็ต้องแต่งงานเสียผีกับหญิงที่ตนชอบสมัครรักใคร่ ผู้ชายจะเป็นฝ่ายย้ายตัวเองไปอยู่บ้านหญิงช่วยครอบครัวฝ่ายหญิงทำมาหากิน เว้นแต่ชายที่เป็นลูกคนเล็กแต่งแล้วอยู่บ้านฝ่ายหญิงอย่างน้อยสามปี แล้วสามารถย้ายครอบครัวไปอยู่บ้านเดิมพ่อแม่ตัวเองได้
เรื่องนี้คนโบราณช่างฉลาดแยบยลจริงๆครับเพราะเห็นว่าชายแข็งแรงกว่าทำไร่ทำนาได้ดีกว่า การแต่งงานแยกครอบครัวจากอกพ่อแม่ ฝ่ายชายสมควรเป็นฝ่ายช่วยแบ่งเบาภาระการทำมาหากินต่อครอบครัวฝ่ายหญิง เว้นแต่การเป็นลูกคนเล็กที่ทางล้านนาเห็นว่าน่าจะอยู่ช่วยพ่อแม่ตัวไว้สักคน.......
หลังจากแต่งงานอยู่กินกันไปสักพักแล้ว ก็สามารถแยกเหย้าเรือนขยับขยายออกไป คนทางนี้ตามชานเมืองบ้านนอกช่วงที่แต่งงานใหม่จะขยันขันแข็งมากทำไปเก็บออมไปเก็บไม้เก็บวัสดุปลูกเรือนสะสมไว้ เมื่อพร้อมก็ไปแปลงหอยอเรือนกันทีหลัง(ปลูกบ้านเป็นของตัวเอง)
เรื่องเรือนโบราณและเรือนกาแล หากจะเล่ากันไปแล้วผมว่าทุกวันสักอาทิตย์นึงน่าจะจบ หากโดยละเอียดจริงๆเรืองเรือนกาแลผมเล่าเดือนนึงแน่ๆ .....มาวันนี้เอาเรืองแต่งงานดีกว่า หลายคนคงรออ่านกันอยู่............
ประเพณีการตั้งครอบครัว (การแต่งงานมีครอบครัว)
ล้านนาเรียก"กินแขกแต่งงาน" ภาษาชาวบ้านว่า "เอาผัวเอาเมีย" ทางอีสานเรียกว่า "กินดอง"โดยชาวล้านนาสมัยก่อนจะแต่งงานอยู่กินกันได้นั้น จะต้องผ่านการเลือกคู่ครองของตนที่พึงพอใจกันเสียก่อน จะว่าไปแล้วหนุ่มสาวชาวล้านนาจะมีสิทธิในการเลือกคู่ครองของตนอย่างเป็นอิสระ ทั้งคู่หนุ่มสาวจะได้เรียนรู้นิสัยใจคอและคุณสมบัติของกันผ่านธรรมเนียม "การแอ่วสาว" ซึ่งเปิดโอกาสให้ชายหญิงได้พูดจาเกี้ยวพาราสีโต้ตอบกันผ่าน "คำอู้บ่าวอู้สาว" เป็นภาษาวรรณศิลป์แบบ "คำค่าวคำเครือ"
แอ่วสาว
การแอ่วสาว เป็นเรื่องของพวกชายหนุ่ม จะไปแอ่วสาวต่างบ้าน อาจไปเดี่ยว ไปคู่ หรือไปกันเป็นกลุ่ม ระหว่างทางบ่าวหนุ่มจะดีด สี ตี เป่า เครื่องดนตรีพื้นเมืองกันไปตามเรื่อง มีการเล่น สะล้อ ซึง และขลุ่ย ประกอบการจ๊อยร่ำกันไป ดังว่า "ดึกมาซ้อยล้อย น้ำย้อยปลายตอง พี่เทียวล่องคลอง น้องหยังบ่เอิ้น"
"การแอ่วสาว" เป็นการเสนอตัวของฝ่ายชายเพื่อให้สาวเลือกเป็นคู่ครอง ขณะเดียวกันหญิงสาวก็จะพิจารณาเลือกชายหนุ่มที่จะมาเป็นคู่ครอง
สาวอยู่นอก
สาวโสดเริ่มแต่แรกรุ่นจะ "อยู่นอก" (อยู่บริเวณห้องโถงของบ้านในเวลากลางคืน และทำกิจกรรมต่างๆ ไปด้วย เช่น ทอผ้า เย็บปักถักร้อย หรือ ตำข้าว) รอชายหนุ่มมาพูดคุยด้วย สาวอาจอยู่นอกคนเดียวหรืออยู่กับเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน 2-3 คน
เมื่อสาวอยู่นอก พ่อแม่ผู้หลักผู้ใหญ่จะเข้านอนแต่หัวค่ำอันเป็นการเปิดโอกาสให้แก่คนบ่าวคนสาวได้เกี้ยวพาราสีกัน แต่หากผู้ใหญ่ท่านใดไม่หลับก็จะเฝ้าฟังสังเกตการณ์ลูกสาวอยู่ในห้องนอน อาจมีกระแอมไอบ้างเป็นบางครั้งบางครา โดยเลือกเวลาที่เหมาะที่ควร "คำอู้บ่าวอู้สาว" ที่หนุ่มสาวสนทนาโต้ตอบกัน จะเป็นข้อมูลสำหรับประเมินคุณสมบัติของหนุ่มผู้เสนอตัวเพื่อให้สาวเลือกเข้ามาเป็นเขยเรือนตนได้เป็นอย่างดี
อู้สาว
คนแต่ก่อน อายุ 12 ปีก็เริ่มกินหมากกันแล้ว เรือนหนึ่งจึงจะะมีขันหมากสองประเภท คือ ขันหมากรวมสำหรับต้อนรับแขกทั่วไปทุกเพศวัย และขันหมากประจำตัวสาว การเริ่มอู้บ่าวอู้สาวเมื่อแรกพบกันจะต้องพูดผ่านขันหมาก เมื่อหนุ่มขึ้นเรือนจะขอเคี้ยวหมากหรือสาวชักชวนหนุ่มให้เคี้ยวหมาก ดังหนุ่มว่า "เตขันจา ถ้าพี่อ้ายเพิ่นมา ค่อยดาแถมใหม่ หื้อคนบ่ได้รากเลือดเสียก่อน" ฝ่ายสาวอาจตอบว่า "เคี้ยวเทอะ เคี้ยวเทอะ พูข้าบ่หอม บ่มีไผทอมเค้ามันบ่อ้วน"
"การอู้สาว" ระหว่าง "อยู่นอก" แบ่งออกเป็นสองช่วงเวลา และ "คำอู้บ่าวอู้สาว" ของคู่สนทนาก็ปรับเปลี่ยนไปเองโดยธรรมชาติบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เป็นจริง กล่าวคือ ช่วงหัวค่ำ(ระหว่าง 2 ทุ่ม ถึง 4 ทุ่ม) เป็นการแอ่วสาวทั่วไปเพื่อความสนุกสนาน สื่อภาษาที่ใช้จึงเป็น "คำค่าวคำเครือ" ต่อเมื่อตอนดึกหลังจากนั้นอาจล่วงเลยไปถึงใกล้รุ่ง คู่ที่สมัครใจอยู่อู้กันต่อในช่วงนี้ย่อมจะเป็น "ตัวพ่อตัวแม่" หรือ คู่หมายรู้ใจซึ่งกันดี ท่วงทีภาษาที่พูดจากันจึงออกมาอย่างสามัญเป็นกันเอง ลงลึกถึงการก่อร่างสร้างอนาคตเอากัน"เป็นผัวเป็นเมีย"
แต่งงานทางล้านนาตามธรรมเนียมดั้งเดิมนั้นมิได้จัดเป็นพิธีการเอิกเกริก เพียงแต่เมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงทราบว่าหนุ่มสาวรักกัน หรือเห็นว่ามีการผิดผีเกิดขึ้น ก็จะติดต่อให้หนุ่มไปใส่ผีหรือทำพิธีขอขมาผีเรือนของฝ่ายหญิง ซึ่งการใส่ผีที่เรียกว่าใส่เอา คือใส่ผีแล้วรับเอาหญิงที่ตนไปผิดผีนั้นเป็นภรรยาก็จะไม่สิ้นเปลืองมาก
จากนั้นก็จะนัดหมายกับฝ่ายชายให้ไปอยู่กับฝ่ายหญิง ซึ่งเมื่อถึงตอนเย็นของวันนัดแล้วฝ่ายชายจะสะพายดาบและนำเอาเสื้อผ้าส่วนตัวซึ่งมีอยู่ไม่กี่ชุดใส่ย่ามสะพายไหล่หรือใส่หีบไม้แล้วถือไป โดยเดินทางไปกับเพื่อนคนหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น
แม้จะไม่ต้องมีสิ่งใดติดตัวไปด้วยมากก็ตาม แต่จะต้องมีเงินติดไปในย่ามหรือหีบนั้นให้มาก นัยว่า เพื่อจะนำไปลงทุนในครอบครัวใหม่ของตน ซึ่งเมื่อไปถึงแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้อนรับตามธรรมดาแล้วฝ่ายชายจะแสดงว่าตนมีเงินไปด้วยมากน้อยอย่างไร โดยบางครั้งอาจจะมีการเทเงินลงนับกันกลางเรือนก็ได้
การที่ฝ่ายชายไปอยู่บ้านของฝ่ายหญิงโดยไม่นำสิ่งของเครื่องใช้ไปด้วยนั้น เป็นเพราะฝ่ายหญิงจะเตรียมข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้พอเพียงสำหรับครอบครัวไว้แล้ว เพียงแต่ให้ฝ่ายชายนำเงินและตนเองไปร่วมสร้างชีวิตใหม่เท่านั้น(บางครอบครัวที่เคยพบเห็น เด็กสาวทางนี้จะขยันทอผ้า(เดี๋ยวนี้ไม่ทอกันแล้ว)เย็บปักถักร้อยปลอกหมอนของใช้ในห้องนอนและข้าวของส่วนตัวสะสมไว้ มีบ้างเหมือนกันที่สาวๆทางนี้เตรียมไว้แล้วแต่กลับไม่ได้แต่งอยู่กินกับใครเลย(น่าสงสารจริงๆ).....แถวบ้านนอกก่อนนี้พอมีให้เห็นเยอะเลย ไปแอ่วไปเที่ยวบ้านใครที่มีลูกสาวสังเกตได้ง่ายๆจากตู้โชว์กลางบ้านก็รู้แล้วว่าลูกสาวยังไม่แต่งงาน
ผิดผี เสียผี
เส้นแบ่งความรักกับความใคร่ในที่ลับหูลับตาคนนั้น ชายบางคนอาจทนระงับความปรารถนาฝ่ายต่ำไม่ไหว การเกี้ยวพาราสีปล่อยไปไกลกว่าเส้นศีลธรรมอันดีงาม หากสาวอยู่นอกไม่มีใจก็จะขยับหนีไปจนติดธรณีประตูเรือนนอน หากชายยังไม่หยุดสาวก็จะข้ามเข้าไปหลบอยู่ด้านในเขตห้องเรือนนอน หนุ่มก็จะไม่กล้าล่วงล้ำเขตห่วงห้ามเข้าไป
ชายใดล่วงละเมิดเข้าไปแม้เพียงถูกเนื้อต้องตัวจับมือถือแขน หากสาวเจ้าส่งเสียงร้องฟ้องพ่อแม่ให้ตื่นขึ้นมาเจรจาบอกชายนั้นว่าทำ "ผิดผีเรือน" แล้ว รุ่งเช้าพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะรีบไปพบพ่อแม่ฝ่ายชายบอกกล่าวให้มา "เสียผี" "เลี้ยงผี" ผีปู่ย่าหรือผีเรือนตนเสียตามประเพณี หลังจากเสียผีเลี้ยงผีเรือนสาวผู้เสียหายแล้ว ทั้งคู่อาจตกลงปลงใจเป็นผัวเป็นเมียกันหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย
ผีเรือน ผีปู่ย่า
ผีปู่ย่า คือ ผีบรรพบุรุษ สืบสายกันมาทางฝ่ายหญิง ลูกหญิงจะรับสืบทอดมาจากแม่ของตน พวกลูกๆ ต้องไปไหว้ผีปู่ย่าที่เรือนแม่อันเป็นเรือนเดิม เมื่อแม่เรือนเดิมตายลง ลูกหญิงคนโตของเรือนนั้นจะรับเอาผีปู่ยาไปไว้ที่เรือนของตนสืบทอดกันต่อไป หากเรือนใดไม่มีลูกผู้หญิงรับสืบต่อผีปู่ย่าต่อไปอีก เรียกว่า "ผีสุด" ผีปู่ย่าเป็นผีดีมีแต่รักษาคุ้มครองคนในครัวเรือนให้อยู่รอดปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง จึงได้ชื่อว่า "ผีหอผีเฮือน"
หากคนในเรือนประพฤติผิดประเพณี เช่น การผิดผีเรือนของบ่าวสาว ต้องมีการเลี้ยงผีเรือนเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในครอบครัวและชุมชนปรับกลับสู่ภาวะปกติคือความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน นอกจากการเลี้ยงผีเรือนกรณีผิดผีแล้ว การเลี้ยงผีเค้าหรือต้นผีจะจัดให้มีขึ้นปีละครั้งตรงกับวันขึ้นหรือแรมเก้าค่ำ เดือนเก้า(เหนือ) เพื่อลูกหลานที่มาชุมนุมกันจะได้บอกกล่าวแก่ผู้ปู่ย่าของตนว่า "...ตั้งแต่นี้ไปขอจงช่วยปกปักรักษา คุ้มครองข้าพเจ้าและลูกหลานทุกคนให้อยู่เย็นเป็นสุข มีอายุมั่นขวัญยืนด้วยเถิด"
เมื่อผ่านพิธีเสียผีกันแล้ว ฝ่ายชายก็ย้ายมาอยู่เรือนฝ่ายหญิง พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจะใช้ผ้าม่านกั้นในห้องนอนใหญ่ซึ่งอยู่รวมกันหลายคนนั้นจัดให้เป็นที่เฉพาะของผัวเมียคู่ใหม่ ซึ่งในบางท้องที่อาจให้คู่ผัวเมียใหม่ใช้มุ้งสีดำก็มี
ผัวเมียคู่ใหม่หรือครอบครัวใหม่จะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของฝ่ายหญิง นอกจากครอบครัวของฝ่ายหญิงมีสมาชิกหลายคน เมื่อกินอาหารมื้อเย็นแล้ว หากไม่มีงานอื่นก็มักจะสนทนาปราศรัยในวงญาติโดยตั้งวงที่เติน(อ่าน"เติ๋น")หรือห้องโถงบนเรือน เขยใหม่ซึ่งเพิ่งเข้ามาสมทบอาจวางตัวไม่ถูก ก็มักจะปลีกตัวไปนั่งพิงเสาสูบบุหรี่อยู่ที่ชานบ้านและดูคนอื่น ๆ คุยกันและมักคิดถึงความอบอุ่นในบ้านของตนเทียบไปด้วย ซึ่งมักจะเห็นว่าหน้าของเขยใหม่นั้นมีแววของความหม่นหมองแฝงอยู่ ดังนั้นจึงเรียกเสาที่ชานบ้านนั้นว่า เสาเขยหมอง
ขอกลับไปเล่าถึงขั้นตอนการเลือกคู่อีกสักหน่อยว่าก่อนการตัด สินใจเข้าสู่การสมรสสร้างครอบครัวใหม่ของหนุ่มสาวชาวล้านนานั้น นอกเหนือ จากที่บุคคลทั้งสองจะต้องพิจารณาจากความพึงใจจากรูปร่างหน้าตา อุปนิสัย สมบัติพัสถาน ความสัมพันธ์ทั้งในวงญาติและสังคมภายในหมู่บ้าน กับความรู้สึกพอใจเพราะการพูดจาปราศรัยดังที่พบในเรื่องแอ่วสาวหรืออู้สาวแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงข้อมูลทางด้านความเชื่อประกอบกันไปด้วยโดยเฉพาะได้มีวิธีการทำนายถึงคู่สมรสและการครองชีวิตคู่ไว้ เช่น ดูปีเดือนและวันที่เป็นมิตรและศัตรู มีตำราที่กำหนดไว้ว่าปี เดือนและวันเกิดของบ่าวสาวว่าเป็นมิตรกัน หรือไม่ โดยว่า ปี เดือน และวันเกิดของหนุ่มสาวที่เป็นมิตรกันนั้นจะทำให้คู่สมรสเจริญก้าวหน้า แต่ หากปีเดือนและวันเกิดของหนุ่มสาวเป็นศัตรูกันแล้ว จะทำให้ชีวิตการแต่งงานล้มเหลว
มาเดี๋ยวนี้การแต่งงานกันมักจัดกันแบบเอิกเกริกจึงมักเรียกว่า
กินแขกแต่งงาน ซึ่งอาจแบ่งได้ ๒ แบบคือ
๑) การแต่งงานแบบผิดผี
คือการแต่งงานที่เกิดขึ้นเนื่องจากหนุ่มสาวได้เสียกันก่อนแต่งงาน เรียกการกระทำแบบนี้ว่า "ผิดผี" คือผิดประเพณี จะมีการขอขมาผีตามประเพณี ทั้งนี้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะแจ้งญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายทราบเพื่อจะได้เตรียมการขอขมา โดยจะนำธูปเทียน ดอกไม้ เงินค่าเสียผี อาหารสำหรับเลี้ยงผี เช่น ข้าว ไก่ เหล้า ผลไม้ เป็นต้น เมื่อจัดเตรียมเครื่องสักการะแล้ว ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะนำเอาเครื่องสักการะที่ฝ่ายชายมอบให้ไปสักการะบูชาผีปู่ย่าตายาย
๒) การแต่งงานแบบสู่ขอ
เมื่อหนุ่มสาวผูกสมัครรักใคร่กันปรารถนาจะแต่งงานอยู่ ร่วมกัน ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายจะมาจาเทิง(อ่าน"จ๋าเติง"หรือมาสู่ขอและกำหนดวันหมั้นหมาย แต่งงาน ซึ่งอาจหมั้นไว้ก่อนแต่งงานหรือหมั้นและแต่งงานพร้อมกันก็ได้ โดยมีเครื่องสักการะในการหมั้นคือ ขันหมั้นหรือพานหมั้น ขันเงินสินสอดหรือพานสินสอด ขันหมาก ซึ่งประกอบด้วย พลูจีบแล้วนำมารวมกันตั้งไว้กลางพาน ในพานตกแต่งด้วย หลังจากที่ทำพิธีหมั้นหมายแล้วก็จะนัดหมายพิธีกิน แขกแต่งงานตามฤกษ์ที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายตลอดจนเจ้าบ่าวเจ้าสาวเห็นสมควร
นอกจากนี้ยังการการแต่งงานแบบเจ้านาย หมายถึงพิธีแต่งงานของผู้เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือก็จะ ปฎิบัติเช่นเดียวกับพิธีแต่งงานของชาวล้านนาทั่วไป แต่มีรายละเอียดของขั้นตอนแตกต่างออกไปกล่าวคือ จะมีพิธีรดน้ำลงบนศีรษะของเจ้านายที่เป็นคู่แต่งงาน น้ำที่นำมาจากแม่น้ำโขง แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน และผู้ที่ทำพิธีรดคือประธานในพิธีซึ่งอาจจะเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูง และนอกจากนี้แล้วคู่แต่งงานใช้ใบมะตูมทัดหู ซึ่งคตินี้ได้มาจากพราหมณ์ถือปฎิบัติสืบกันมาแต่โบราณ บายศรีที่ใช้ในพิธีแต่งงานของเจ้านาย จะใช้บายศรีหลวง โดยมีบายศรีนมแมวเป็นบายศรีนำ
หลังจากชายย้ายเข้าไปอยู่ร่วมเรือนหญิงนานพอสมควรแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องไป "ไขว่ผี" จัดเตรียมเครื่องสิ่งของมีหมากพลูข้าวตอกดอกไม้ และไก่ต้ม 2 ตัว เอาไปเซ่นไหว้ผีที่เรือนฝ่ายชาย แล้วจะเอาไก่ต้มคืนมาตัวหนึ่ง เพื่อเลี้ยงคนในเรือนตน เชื่อว่าจะทำให้คนในผีเรือนทั้งสองสายได้คุ้นเคยกัน
เมื่ออยู่เรือนพ่อแม่ฝ่ายเมีย ชายผู้เขยไม่นิ่งดูดายต้องทำงานในไร่นา เลี้ยงวัวควาย รวมทั้งงานขุดลอกเหมืองฝาย ตัดไม้ ผ่าฟืน ซ่อมแซ่มเครื่องใช้ไม้สอยและอาคารบ้านเรือน อันเป็นสมบัติของเรือนพ่อตาแม่ยาย
ยามว่างจากงานส่วนรวมแล้วสองผัวเมียจึงจะหาช่องทางปลูกพืชไร่อายุสั้น เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง หอม กระเทียมฯ เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตขายเป็นรายได้สะสมไว้เป็นทุนส่วนตัวได้ พร้อมกันนั้นก็จะสะสมไม้เครื่องเรือนของตนไปด้วย
หลังจากรับใช้พ่อแม่ของเมียครบ 3 ปีแล้ว จึงจะแยกออกมาปลูกเรือนของตนเองต่อไป
หากหนุ่มสาวคลับท่านใดสนใจอยากแต่งงานแบบล้านนา(อีกหน) สนใจติอต่อได้ที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ หรือที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย(ลำปาง) เห็นว่ามีจัดกันบ่อยๆและทุกปีที่ลำปาง ตามรายละเอียดที่ผมเอารูปพิธีมาลงและตามเว๊บ-โบรชัวร์ประชาสัมพันธ์งานดังข้างล่างนี้ครับ



เครดิตรูปภาพจาก https://www.posttoday.com/social/local/416087
พิธีงานแต่งงานแบบล้านนาบนหลังช้างนี้ ทาง จ.ลำปาง ได้จัดขึ้นในวันที่ 14 ก.พ. เป็นประจำทุกปี นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังตรงกับวันวาเลนไทน์อีกด้วย ซึ่งก็จะสามารถเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก สำหรับท่านที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ฝ.อน. 054 - 227051 หรือ 054 - 227544 ได้ในวันและเวลาราชการ
ขอบคุณเรื่องจาก คุณ อีกาสีขาว กระทู้ Pantip