Top
^
แต่งงาน > สถานที่ถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง > ขั้นตอนการแต่งงานที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ
 

ขั้นตอนการแต่งงานที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ

โพส :: [ 05 มีนาคม 2561 ] | จำนวนคนอ่าน 3401 คน
เรียบเรียงโดย : หนังสือเกี่ยวกับ การแต่งงานแบบคาทอลิก (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม) , ระเบียบข้อปฎิบัติการแต่งงานของอาสนวิหารอัสสัมชัญ

พิธีแต่งงานแบบคริสต์

แต่งงานแบบคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก

ระเบียนขั้นตอนการแต่งงานที่ อาสนวิหารอัสสัมชัญ

 

1. คู่บ่าวสาวต้องมาติดต่อด้วยตนเองที่สำนักงานวัดสำหรับจองวันแต่งงานเพื่อพูดคุยรับทราบเงื่อนไขเบื้องต้นของการแต่งงาน หากไม่มีข้อขัดขวางคุณพ่อจะรับลงจองวันและเวลาที่คู่บ่าวสาวต้องการ ***ทางอาสนวิหารอัสสัมชัญจะไม่รับจองวันและเวลาแต่งงานผ่านทางบุคคลอื่นที่มิใช่คู่บ่าวสาว

2. เมื่อคู่บ่าวสาวพบคุณพ่อและได้รับอนุญาตให้ประกอบพิธีแต่งงานที่อาสนวิหารอัสสัมชัญแล้ว คู่บ่าวสาวจะลงวันที่แต่งงาน รับเอกสาร และระเบียบการต่างๆ ที่สำนักงานวัด

3. คู่บ่าวสาวเข้ารับการอบรมชีวิตสมรสที่สำนักมิสซังตามวันและเวลาที่ทางอาสนวิหารกำหนด

4. เมื่อเข้ารับการอบรมชีวิตสมรสร้อยแล้ว ให้นำเอกสารที่ได้รับ และเอกสารต่างๆที่ทางวัดแจ้งให้เตรียมมาส่งที่สำนักงานวัด

5. รอทางวัดโทรแจ้งวันนัดสัมภาษณ์กับคุณพ่อเจ้าอาวาสอีกครั้ง

6. คู่บ่าวสาวมาสัมภาษณ์กับคุณพ่อตามวันเวลาที่นัดหมาย

7. หลังสัมภาษณ์เสร็จเรียบร้อย ทางวัดจะนัดซ้อมพิธีแต่งงาน

8. วันซ้อมพิธีแต่งงาน (ก่อนวันแต่งงานประมาณ 1-2 อาทิตย์)คู่บ่าวสาวนำค่าใช้จ่ายต่างๆมาชำระในวันซ้อมพิธี

9. วันแต่งงาน

 

ระเบียบการขอจัดพิธีแต่งงาน ณ อาสนิวหารอัสสัมชัญ

1. คู่บ่าวสาวที่ต้องการแต่งงานที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ จำเป็นต้องไม่เป็นที่สะดุด หรือมีข้อขัดขวางใดๆ

2. การจองวันและเวลาของการแต่งงาน บ่าวสาวต้องติดต่อผ่านสำนักงานวัดเพื่อผู้คุยคุณพ่อเจ้าอาวาสด้วยตนเอง เพื่อรับทราบและเข้าใจระเบียบการ และเงื่อนไขเบื้องต้นของการแต่งงานอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนถึงเดือนแต่งงาน (แต่ถ้าอยู่ต่างประเทศควรติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน)

3. หลังจากกำหนดวันแต่งงานกับทางวัดเรียบร้อยแล้ว คู่สมรสจะต้องเข้ารับการอบรมชีวิตสมรสที่สำนักมิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ(อาคารด้านซ้ายของอาสนวิหารฯ) ซึ่งจัดอบรมทุกวันอาทิตย์ที่ 3 และ 4 ของทุกเดือน เวลาของการอบรม คือ 8.20 น. ถึง 12.00 น.
โดยติดต่อเข้ารับการอบรม ตามหมายเลขโทรศัพท์ดังนี้คือ  02-2371031 , 02-2375284 , 02-2337441  โดยที่คู่แต่งงานทั้งสอง ต้องเข้ารับการอบรมต่อเนื่องกันทั้งสองครั้ง
 

4. เอกสารที่จำเป็น

4.1 สำหรับผู้ที่เป็นคาทอลิก (จำเป็นต้องเป็นผู้ที่รับศีลกำลังแล้ว)

- ใบศีลล้างบาป ที่ออกให้มาไม่เกิน 6 เดือน(ขอได้จากวัดที่ตนเองได้รับศีลล้างบาป ระบุเพื่อการแต่งงาน)
- สำเนาการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน)
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนามรณบัตรของคู่ครองเดิม (ถ้าเคยแต่งงานมาก่อน)
- สำเนาประกาศนียบัตรอบรมชีวิตคู่สมรส
- รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป

4.2 สำหรับผู้มิใช่คาทอลิก

- ใบรับรองสถานะของของฝ่ายที่มิใช่คาทอลิก (ขอแบบฟอร์มได้ที่สำนักงานอาสนวิหารฯ)
- สำเนาการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน)
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับรอง
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับรอง
- สำเนามรณบัตรของคู่ครองเดิม(หากเคยแต่งงานมาก่อน)
- สำเนาประกาศนียบัตรอบรมชีวิตคู่สมรส
- รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป

4.3 File รูป JPEG ของคู่บ่าว-สาว  ขนาด 1 MB ขึ้นไป (ใช้สำหรับทำใบประกาศการสมรส)

5.  เมื่อได้เข้ารับการอบรมชีวิตสมรสแล้ว และจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นครบถ้วนแล้วให้ติดต่อนัดหมายกับเจ้าอาวาส เพื่อเข้ารับการสอบสวนก่อนการแต่งงาน อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนถึงแต่งงานที่กำหนดไว้ และเมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้ว  เจ้าอาวาสจะปรึกษาหารือกับคู่บ่าวสาว เพื่อกำหนดวันเวลาสำหรับการซ้อมพิธีต่อไป

6.  ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น

6.1 ค่าบริการจัดพิธี               500  บาท
6.2 ค่าตอบแทนผู้ช่วยพิธี       500  บาท
6.3 ค่าตอบแทนนักขับร้อง      1,500  บาท
6.4 ค่าดอกไม้                   10,000  บาท
6.5 ค่าไฟ-แอร์                   10,000  บาท
6.6 อื่นๆ (ดูเพิ่มเติมในเอกสาร รายละเอียดเกี่ยวกับการแต่งงาน)
(ช่อดอกไม้ 2 ช่อ สำหรับเจ้าสาวถือเดินเข้าวัด 1 ช่อ และสำหรับถวายแม่พระ 1 ช่อ เจ้าภาพจัดเตรียมเอง) ในกรณีที่เจ้าภาพ ต้องการให้จัดดอกไม้เพิ่มเติม จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วยตามปริมาณงาน

 

7. วันและเวลาของการจัดพิธีแต่งงาน

7.1 อาสนวิหารฯให้บริการจัดพิธีแต่งงานทุกวัน ยกเว้น วันอาทิตย์ของเทศกาลมหาพรต(ราวเดือนกุมภาพันธ์-ถึงกลางเดือนเมษายน) และวันอาทิตย์ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า(เดือนธันวาคม) และยกเว้นถึงวันที่อาสนวิหารฯอาจต้องจัดฉลองสำคัญตามโอกาสต่างๆด้วย

***และหากคู่บ่าวสาวที่มาจองโบสถ์เป็นเวลานานเกินกว่า 4 เดือน(ก่อนถึงกำหนดแต่งงาน) และถึงแม้โบสถ์อนุญาตให้จองวันได้ แต่หากวันนั้นทางโบสถ์จำเป็นต้องจัดงานสำคัญทางศาสนาของทางโบสถ์ หรือของอัครสังฆมณฑล ทางโบสถ์มีสิทธิขอเลื่อนงานแต่งหรืองดการจัดพิธีแต่งงานในวันนั้นๆได้***

7.2 เวลาของการจัดพิธีแต่งงาน

 

วันธรรมดา (จันทร์ ถึง ศุกร์)   10.00 น.   หรือ   11.00 น.
วันเสาร์                            10.00 น.    และ  13.00 น.     
วันอาทิตย์                        13.00 น.  
 

8.  ในกรณีที่ฝ่ายคาทอลิกเป็นชาวต่างชาติ หรือแม้เป็นคนไทย ที่จะมีญาติพี่น้องหรือมิตรสหายที่เป็นคาทอลิกด้วยกัน มาร่วมในพิธีแต่งงานน้อยมากเกินไป พิธีแต่งงานจะใช้รูปแบบ “วจนพิธีกรรม”(ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที) มิใช่รูปแบบ “พิธีมิสซา”(ประมาณ หนึ่งชั่วโมง)

9.  ในกรณีที่คู่บ่าวสาวมาถึงอาสนวิหารฯไม่ตรงเวลา จนมีผลกระทบต่อการจัดพิธีของคู่ต่อไป  เจ้าอาวาสจะพิจารณาให้ใช้รูปแบบ “วจนพิธีกรรม”

10.ระเบียบปฏิบัติในพิธีแต่งงาน

10.1.  ควรมอบหมายให้มีบุคคลหนึ่งคอยประสานงานดูแลรับผิดชอบเรื่องทั่วๆไประหว่างพิธีกรรมในโบสถ์
10.2.  การแต่งกายของคู่สมรสและผู้มาร่วมงานทุกท่านจะต้องเป็นแบบสุภาพเหมาะสมกับโบสถ์อันเป็นสถานที่ ศักดิ์สิทธิ์ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม(ห้ามชุดเกาะอก,เปิดไหล่ คอกว้าง–ลึก หรือกระโปรงสั้นจนเกินไป)
10.3.  การถ่ายภาพ หรือการบันทึกเทปวีดีทัศน์ (คู่บ่าวสาวจำเป็นต้องแจ้งให้ช่างภาพรับทราบด้วย)
10.3.1  ช่างภาพจะต้องแต่งกายเรียบร้อย

10.3.2  ไม่เข้าไปในบริเวณที่สงวนไว้เฉพาะสำหรับพระสงฆ์ 
(ตั้งแต่บันได, สักการสถาน, บริเวณพระแท่น เป็นต้นไป  ตลอดจนภายในสักการสถานทั้งหมด)
10.3.3  มีอาการสำรวม เหมาะสมกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (ไม่เดินพลุกพล่าน ทำเสียงอึกทึกรบกวนสมาธิ หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการทำลายบรรยากาศของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์(ไม่ควรถ่ายในระยะ1-2 เมตร)

10.3.4  อนุญาตให้มีช่างภาพนิ่งได้  2  คนเท่านั้น (ถ้าเกินกว่า 2 คนกรุณาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อน)

10.3.5  อนุญาตให้มีช่างภาพวีดีโอได้  1  คน

10.3.6  ไม่อนุญาตให้ใช้เครนแขวนกล้อง และไฟสปอร์ตไลท์ภายในโบสถ์

10.4.   ไม่อนุญาตให้นักข่าวเข้ามาถ่ายภาพ หรือทำข่าวภายในอาสนวิหาร

10.5.   บทเพลงที่ใช้ตลอดพิธีแต่งงานจะต้องเป็นบทเพลงในพิธีกรรมที่ได้รับการรับรองจากทางโบสถ์แล้วเท่านั้น   โดยคู่บ่าวสาวสามารถขอดูบทเพลงต่างๆได้จากทางเจ้าหน้าที่ของวัด

10.6   การจัดจารีตพิธีสมรส รวมถึงขบวนแห่จะต้องเป็นไปตามจารีตพิธีกรรม  และระเบียบแบบแผนที่ทางอาสนวิหารอัสสัมชัญอนุญาตให้เท่านั้น

*** หมายเหตุ ***
1. ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอก หรือร้านจัดดอกไม้ภายนอก เข้าจัดดอกไม้ภายในวัด การจัดดอกไม้ภายในวัดให้ติดต่อผ่านทางเจ้าหน้าที่สำนักงานของอาสนวิหารเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการไม่เคารพต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นของการทำงาน

2.ค่าใช้จ่ายทุกรายการ ชำระที่สำนักงานของอาสนวิหารฯ ในวันซ้อมพิธี โดยมีใบเสร็จรับเงิน

3. การขอจัดเลี้ยงในบริเวณรอบอาสนวิหารนั้น ทางอาสนวิหารอนุญาตให้จัดเลี้ยงเป็นเพียงของว่างที่บรรจุในกล่อง (Snack box)อย่างเดียวเท่านั้น และหาผู้ดูแลความเรียบร้อยด้วย

4. การจองวันและเวลาของการแต่งงาน บ่าวสาวต้องติดต่อกับสำนักงานวัดด้วยตนเอง เพื่อรับทราบและเข้าใจระเบียบการ และพิจารณาเงื่อนไขเบื้องต้นของการแต่งงาน

5. การเปลี่ยนแปลงวัน-เวลาของการแต่งงาน บ่าว-สาวต้องติดต่อกับสำนักงานวัดด้วยตนเองเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดหรือความผิดพลาดอันอาจเกิดขึ้นได้

6. ไม่อนุญาตให้ปรับเปลี่ยนเครื่องเสียงใดๆทั้งสิ้นภายในวัด แต่หากต้อการปรับเปลี่ยนต้องนำเครื่องเสียงมาเองทั้งระบบ เช่น ไมค์ ลำโพง มิกเซอร์ ฯลฯ โดยทางวัดจะไม่อนุญาตให้ต่อระบบเสียงใดๆเข้ากับระบบเครื่องเสียงของวัด

 

แผนที่การเดินทาง Map

 

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

การแต่งงานแบบศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในโบสถ์คาทอลิก มีแนวทางดังนี้

การแต่งงานแบบคาทอลิกจะมีพิธีสองแบบ ดังนี้

แบบที่ 1 คือ     การแต่งงานระหว่าง คาทอลิก กับ คาทอลิก  เราจะเรียกว่า ศีลสมรส (เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์)

แบบที่ 2 คือ     การแต่งงานระหว่าง คาทอลิก กับ ผู้ที่มิใช่คาทอลิก เราจะเรียกว่า พิธีสมรส แบบนับถือศาสนาต่างกัน (ไม่ถือว่าเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์)

ดังนั้นการแต่งงานในโบสถ์คาทอลิกได้นั้นจะเป็นต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และทั้งคู่ต้องไม่มีข้อขัดขวางใดๆ สำหรับการแต่งงานด้วย

ข้อขัดขวาง เช่น เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน ไม่ว่าด้วยทางกฎหมายบ้านเมือง หรือ การอยู่กันฉันท์สามีภรรยากับผู้อื่นมาก่อน เป็นต้น

 

1.   เริ่มต้นสำหรับการแต่งงาน

สิ่งที่ต้องกระทำก่อนแต่งงานแบบคาทอลิกจึงมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิต ซึ่งมีดังนี้...

1.1   เมื่อคู่บ่าวสาวต้องการจะแต่งงานที่โบสถ์ไหน ควรโทรไปสอบถามรายละเอียดเบื้องต้น กับทางโบสถ์นั้นเสียก่อนว่าแต่ละโบสถ์มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งตามปกติแล้วควรที่จะทำพิธีแต่งงาน ณ โบสถ์ที่ตนเองไปประกอบศาสนกิจเป็นประจำ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ฝ่ายที่เป็นคาทอลิกเองต้องเป็นผู้ที่ได้รับศีลล้างบาป ศีลมหาสนิท และศีลกำลังแล้ว และปฏิบัติศาสนกิจเป็นประจำด้วยจึงจะสามารถแต่งงานได้

1.2   จากนั้นคู่บ่าวสาวจะ ต้องไปที่สำนักงานวัดด้วยตนเองเพื่อติดต่อจัดพิธีแต่งงานกับทางวัด(คุณพ่อเจ้าวัด) อย่างน้อยที่สุดไม่ควรต่ำกว่า 3 เดือนก่อนถึงกำหนดพิธีแต่งงาน

ทางคุณพ่อเจ้าอาวาส, คุณพ่อผู้รับผิดชอบ หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จะสอบถามเบื้องต้นเพื่อตรวจสอบว่าคู่บ่าวสาวมีข้อขัดขวางใดๆ หรือไม่  ถ้าไม่มีข้อขัดขวางใด ๆ ทางโบสถ์จะรับจัดพิธีแต่งงาน และแจ้งกฎระเบียบต่าง ๆ ตามที่แต่ละโบสถ์ได้กำหนดไว้ให้คู่บ่าวสาวได้รับทราบ

1.3 หลังจากนั้น ทางวัดจะแจ้งให้คู่บ่าวสาว เข้ารับการอบรมชีวิตสมรส เพื่อให้ทราบ และเข้าใจถึงความสำคัญของการแต่งงานในบริบทของคาทอลิกอย่างดีเสียก่อน (ซึ่งไม่ควรเข้ารับอบรมก่อนที่จะติดต่อกับทางวัด) การอบรมนี้จะมีเรื่องเกี่ยวกับการแต่งงาน การทำหน้าที่ของสามี-ภรรยา บิดา-มารดา และเรื่องอื่น ๆ ทั้งฝ่ายที่เป็นคาทอลิกและมิใช่คาทอลิกได้รับทราบ เช่น กฎหมายพระศาสนจักรคาทอลิก, กฎหมายบ้านเมือง, ศีลธรรม-จริยธรรม, การวางแผนครอบครัว และเรื่องอื่นๆ เป็นต้น

2.   เอกสารสำหรับเตรียมแต่งงาน

2.1 สำหรับผู้ที่เป็นคาทอลิก

- สำเนาทะเบียนศีลล้างบาป (มีอายุไม่เกิน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ออก)

- สำเนาการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน)

- สำเนาบัตรประชาชน

- สำเนาทะเบียนบ้าน

- สำเนามรณบัตรของคู่ครองเดิม (ถ้าเคยแต่งงานมาก่อน)

- สำเนาประกาศนียบัตรอบรมชีวิตคู่สมรส

- รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป

 

2.2 สำหรับผู้มิใช่คาทอลิก

- ใบรับรองสถานะของของฝ่ายที่มิใช่คาทอลิก

- สำเนาการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน)

- สำเนาบัตรประชาชน

- สำเนาทะเบียนบ้าน

- สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับรอง

- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับรอง

- สำเนามรณบัตรของคู่ครองเดิม(หากเคยแต่งงานมาก่อน)

- สำเนาประกาศนียบัตรอบรมชีวิตคู่สมรส

- รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป

***เอกสารต่างข้างต้นนี้ควรเตรียมหลังจากได้ติดต่อกับโบสถ์เรียบร้อยแล้ว และการเตรียมเอกสารควรปรึกษากับทางโบสถ์ที่คู่บ่าวสาวต้องการจะจัดพิธีแต่งงานเสียก่อน เพราะทางโบสถ์อาจขอเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติมจากเอกสารที่กล่าวไว้ข้างต้น และที่สำคัญเอกสารบางอย่างจะถูกระบุวัตถุประสงค์ในการใช้ว่าใช้เพื่ออะไร และมีกำหนดว่าใช้ได้ไม่เกิน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ออกเอกสาร

 

3.   เวลาในการขอและยื่นเอกสาร

ระหว่างที่เข้าอบรมชีวิตสมรสตามวันที่วัดกำหนด คู่บ่าวสาวควรจัดเตรียมเอกสารข้างต้นให้ครบถ้วน เพราะเมื่ออบรมชีวิตสมรสเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรรีบนำเอกสารต่าง ๆ ที่ทางวัดให้จัดเตรียมมาส่งที่สำนักงานวัด

จากนั้นทางวัดจะนัดหมายคู่แต่งงานให้พบคุณพ่ออาวาส เพื่อทำการสัมภาษณ์ก่อนการแต่งงาน อย่างน้อย 2 เดือน ก่อนถึงวันแต่งงานที่กำหนดไว้ (เพราะการสัมภาษณ์เพื่อทำเอกสารการแต่งงานนั้นสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะจะทำให้ทราบถึงคุณสมบัติของคุณแต่งงานได้ ทันที่ว่าจะทำพิธีแต่งงานได้หรือไม่ )

จากนั้นทางวัดจะต้องมีการส่งแจ้งเรื่องที่คู่บ่าวสาวต้องการแต่งงานไปยังวัดที่ฝ่ายคาทอลิกรับศีลล้างบาปให้รับทราบถึงการแต่งงานในครั้งนี้ และทางวัดนั้นจะต้องลงประกาศในวัดเพื่อให้พี่น้องสัตบุรุษ รับทราบ ติดต่อกับ 3 อาทิตย์ (เพื่อว่าหากมีข้อขัดขวางใด ๆ พี่น้องสัตบุรุษมีหน้าที่แจ้งให้พระสงฆ์รับทราบ)

และหากไม่มีข้อขัดขวางคุณพ่อก็จะยื่นเอกสารการสัมภาษณ์ของคู่บ่าวสาว เพื่อขออนุญาตการแต่งงานจากทางสังฆมณฑลต่อไป

หลังจากนั้นก็จะเป็นการกำหนดวัดซ้อมพิธีแต่งงาน ซึ่งการซ้อมพิธีแต่งงานจะประมาณ 1-2 อาทิตย์ก่อนแต่งงาน

หลายคนอาจเห็นในหนังว่าการแต่งงานในโบสถ์ดูง่ายและรวดเร็ว แต่ความเป็นจริงกับในหนังต่างกันมาก อย่างที่เห็นแล้วการแต่งงานแบบคาทอลิกจริงๆ นั้น มีขั้นตอนการเตรียมตัวหลายอย่าง และหลายขั้นตอน ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก ดังนั้นจึงควรเตรียมการล่วงหน้าอย่างช้าที่สุดคือ 3 เดือนก่อนถึงเดือนแต่งงาน แต่ทั้งนี้บางวัดอาจขอใช้เวลานานกว่านั้น ดังนั้นคู่บ่าวสาวควรรีบมาติดต่อวัดตั้งแต่เนิ่นๆจะดีที่สุด

 

4.   คู่บ่าวสาวสามารถเรียนเชิญคุณพ่อไปทำพิธีแต่งงานที่อื่นที่มิใช่ไม่ใช่ในโบสถ์ได้ไหม?

พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ไม่มีอนุญาตให้จัดพิธีแต่งงานแบบคาทอลิกภายนอกโบสถ์ ดังนั้นพิธีแต่งงานแบบคาทอลิกจำเป็นต้องกระทำพิธีดังกล่าวภายในโบสถ์เท่านั้น
 

5.  การแต่งงานแบบคาทอลิกจำเป็นไหมที่ฝ่ายที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์จะต้องเปลี่ยนมานับถือคริสต์?

ไม่จำเป็น ทางพระศาสนจักรคาทอลิกเราจะเรียกการแต่งงานแบบนี้ว่าการแต่งงานแบบต่างคนต่างถือ หรือที่นับถือศาสนาต่างกัน โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยของเรา ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของคาทอลิกก็มักจะแต่งงานกับพี่น้องชาวพุทธคือ สามีหรือภรรยาเป็นพุทธ

สมัยก่อนพระศาสนจักรเคร่งครัดมาก เรียกว่าใครจะแต่งงานกับคาทอลิก จะต้องมาเป็นคาทอลิกเสียก่อน แต่ปัจจุบันหลังพระสังคายนาวาติกันที่สอง ได้ผ่อนปรนในเรื่องนี้ให้สามารถนับถือศาสนาต่างกันได้ สาเหตุเพราะการนับถือศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งจะไปบังคับกันไม่ได้ อีกทั้ง พระสังคายนายังส่งเสริมให้มีการเสวนาทำศาสนสัมพันธ์ ให้เคารพในความเชื่อถือในศาสนาของกันและกันอีกด้วย

แต่หากฝ่ายที่มิใช่คาทอลิกเมื่อแต่งงานไปแล้วมีความสนใจอยากจะเรียนรู้ศาสนาคาทอลิกก็สามารถมาติดต่อที่วัดเพื่อขอเรียนคำสอนได้ และเมื่อเรียนแล้วและต้องการเปลี่ยนมานับถือศาสนาคาทอลิกก็ย่อมสามารถทำได้

 

6.  ในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เราถือว่าการแต่งงานมีความสำคัญอย่างยิ่ง ถือเป็นพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์และทรงเป็นพยานพร้อมทั้งประทานพระพรพิเศษให้ผู้ที่แต่งงานมีชีวิตร่วมกันเป็นสามีภรรยา มิใช่เป็นเรื่องของมนุษย์เท่านั้น

ศีลนี้ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีก คือบางครั้งเรียกว่า “ศีลกล่าว”เพราะในพิธีแต่งงานตามประเพณีของคริสตชน จะมีการกล่าวคำสาบานต่อกันและกันของเจ้าบ่าวเจ้าสาว หรือ บางครั้งเรียกว่า “ศีลสมรส” ซึ่งเรียกชื่อตามสากลหมายถึงการแต่งงานนั่นเอง

 

สาระสำคัญของศีลแต่งงานมีดังต่อไปนี้

1.   เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ในเจ็ดศีลที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อประทานพระพรแห่งชีวิตครอบครัว  อันได้แก่การเป็นสามี ภรรยา เป็นบิดา มารดา ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตในการมีส่วนร่วมกับการสร้างมนุษย์ของพระผู้เป็นเจ้า

2.   ดังที่ได้ทราบแล้วว่า ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นั้น จะมีผู้ประกอบพิธี สำหรับศีลแต่งงานนี้ พิเศษตรงที่ว่า ผู้ประกอบพิธี คือ เจ้าบ่าว เจ้าสาว ส่วนพระสงฆ์และคนอื่นๆ ถือเป็นพยานในพิธีเท่านั้น และคำกล่าวที่สำคัญที่สุด คือ การให้พันธสัญญาต่อกันและกันด้วยคำสัญญาว่า “...ขอรับคุณ...เป็นสามี (ภรรยา) และขอสัญญาว่าจะถือซื่อสัตย์ต่อคุณทั้งในยามสุขและยามทุกข์ ทั้งในเวลาป่วยและในเวลาสบาย เพื่อรักและยกย่องให้เกียรติคุณจนกว่าชีวิตจะหาไม่” คำสัญญานี้ถือเป็นพันธสัญญาเพราะมีข้อผูกมัดที่จะต้องถือปฏิบัติ จะละเลยมิได้ ส่วนการที่จะถือว่าเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สมบูรณ์    ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องเป็นคาทอลิก ถ้าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิใช่คาทอลิก พระศาสนจักรถือว่าเป็นเพียง “พิธีแต่งงานแบบคาทอลิก” เท่านั้น หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า พิธีแต่งงานแบบต่างคนต่างถือ แน่นอนว่าพระเป็นเจ้าทรงประทานพระพรให้ด้วยเช่นกัน แต่มิใช่พิธีที่สมบูรณ์แบบศีลศักดิ์สิทธิ์

3.   การแต่งงานแบบคาทอลิกมีระเบียบปฏิบัติหลายประการ เช่น

ก. ต้องมีพื้นฐานที่สำคัญคือ “ความรัก”ที่ทั้ง 2 คนจะต้องมีต่อกันอย่างแท้จริง จึงต้องมีการศึกษาดูใจกันพอสมควร

ข. ต้องมีเจตนาจะมีบุตรดังนั้น หากคู่แต่งงานใดจะแต่งงานโดยไม่ต้องการมีบุตร  ย่อมจะกระทำพิธีมิได้

ค. ต้องมีอิสระ หรือ เสรีภาพในการตัดสินใจ เลือกคู่แต่งงานด้วยตัวเอง มิได้ถูกบังคับหรือที่เราเรียกว่า “คลุมถุงชน”

ง. ต้องมีการเตรียมตัวเข้าสู่การแต่งงานอย่างดี    ด้วยการเรียนรู้ถึงการดำรงชีวิตครอบครัวตามหลักปฏิบัติของคาทอลิกดังนั้น จึงต้องติดต่อกับทางวัด (พระสงฆ์) ก่อนจะมีพิธีนานพอสมควร เพื่อพระสงฆ์จะได้จัดให้ได้รับการอบรมพอสมควร ปกติควรติดต่อกับทางวัดอย่างน้อย 3 เดือน    ทั้งนี้ เพราะบางกรณีอาจมีข้อขัดขวางที่ไม่สามารถจะประกอบพิธีได้เหมือนกัน

จ.  การแต่งงานแบบคาทอลิก จะต้องถือเป็นการมีสามีเดียว ภรรยาเดียว (ผัวเดียว-เมียเดียว) พร้อมทั้งจะเลิกรากันหรือหย่ากันไม่ได้ ต้อง “ร่วมทุกข์ ร่วมสุข” กันไปจนตลอดชีวิต จะแต่งงานใหม่ได้ก็ต่อเมื่อ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายตายไปแล้ว เพราะพันธสัญญาที่ให้กันในวันแต่งงานก็เป็นอันสิ้นสุดลงด้วยอย่างไรก็ดี มีสามีภรรยาหลายคู่ที่เลิกรากันไปเฉยๆ อย่างนี้พันธสัญญานั้นไม่ถือว่าสิ้นสุด จะแต่งงานใหม่ไม่ได้ ยกเว้นแต่จะได้รับการประกาศจากพระศาสนจักรให้พันธสัญญานั้นเป็นโมฆะเสียก่อน ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์และดำเนินเรื่องผ่านทางศาลของพระศาสนจักรเท่านั้น
 

4.   คาทอลิกที่จะเข้าพิธีแต่งงานนั้นจะต้องเตรียมจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากบาปต่างๆ  ดังนั้น จึงต้องแก้บาปอย่างดี พร้อมทั้งภาวนาวอนขอพระพรจากพระผู้เป็นเจ้าเป็นพิเศษด้วย

     พระศาสนจักรมิได้ห้ามการแต่งงานแบบต่างคนต่างถือแต่ก็มิได้ส่งเสริมหรือสนับสนุน หากแต่ขอให้ฝ่ายคาทอลิกต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นคริสตชนที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คู่ชีวิตของตน เพื่อเป็นพยานยืนยันถึงความรักและพระเมตตาของพระเป็นเจ้าที่ตนเคารพรัก เชื่อ และไว้ใจในพระองค์

 

สรุปว่า ในภาคปฏิบัติหากใครต้องการจะแต่งงานแบบคาทอลิก สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ

1.   ต้องอย่างน้อยมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคาทอลิก

2.   ต้องไปพบกับพระสงฆ์เจ้าอาวาสของวัดของตนเพื่อแจ้งให้ท่านทราบและขอคำแนะนำอย่างน้อยก่อนวันแต่งงานประมาณ 3 เดือน เพราะบางครั้งอาจมีข้อขัดขวางไม่สามารถทำพิธีให้ได้ด้วยเหมือนกัน ระวังอย่าไปกำหนดวันแต่งงานก่อนที่จะปรึกษาพระสงฆ์ เพราะในวันนั้นอาจจะกระทำพิธีไม่ได้ เนื่องจากมีข้อห้ามพระศาสนจักรอยู่  ดังนั้น ก่อนพิมพ์การ์ด ควรปรึกษาพระสงฆ์เสียก่อน

3.   ต้องให้เวลาพอเพียงที่จะรับการอบรมจากพระสงฆ์ ในเรื่องการแต่งงานและต้องมีเวลาให้พระสงฆ์เตรียมเอกสารต่างๆ พอสมควร

 

ที่มา :  1.  หนังสือเกี่ยวกับ “การแต่งงานแบบคาทอลิก”  (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม)

          2.  ระเบียบข้อปฎิบัติการแต่งงานของอาสนวิหารอัสสัมชัญ

 

 

 

 


คุณถูกใจบทความไหม? LIKE
ถูกใจ Fanpage



Tags บทความที่เกี่ยวข้อง : พิธีแต่งงานแบบคริสต์


คุณรู้สึกอย่างไร? กับบทความนี้ แสดงความคิดเห็น


 

Weddinginlove Showcase , Weddinginlove โชว์ผลงาน งานแต่งงาน

 
 


Manita Wedding
Manita Wedding
เราให้ความสำคัญทุกรายละเอียดในการผลิต การ์ดแต่และใบมีการตรวจเช็คคุณภาพก่อนส่งถึงมือลูกค้า ทำให้มั่นใจได้ว่าสิ่งที่ลูกค้า...
ไทไทกำแพงเพชร เวดดิ้ง สตูดิโอ
ไทไทกำแพงเพชร เวดดิ้ง สตูดิโอ
ฉลองครบรอบ 16 ปี ก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 ประสบการณ์ที่ผ่านมา ยืนยันความเป็นมืออาชีพ เรามีทีมงานที่มีคุณภาพที่ตั้งใจและเต็มใ...
บานู เวดดิ้ง & สตูดิโอ บางบัวทอง
บานู เวดดิ้ง & สตูดิโอ บางบัวทอง
เรื่องวิวาห์ ต้อง บานู เรียกใช้ บานูเวดดิ้ง บางบัวทอง บริการให้เช่าชุดแต่งงานอิสลาม , ชุดเจ้าสาว, ชุดไทย, ชุดแต่งงาน แบ...
A Rich Wedding Pattaya
A Rich Wedding Pattaya
เอริช เวดดิ้ง สตูดิโอพัทยา รับจัดงานแต่งงานครบวงจร ถ่ายภาพ ชลบุรี ถ่ายรูปแต่งงาน พรีเวดดิ้ง ในและนอกสถานที่ บริการเช่าชุ...
ต้นข้าว เวดดิ้ง สตูดิโอ พิจิตร
ต้นข้าว เวดดิ้ง สตูดิโอ พิจิตร
ต้นข้าว เวดดิ้ง สตูดิโอ พิจิตร เจ้าของรางวัล " รองแชมป์โลก ประเภทแต่งหน้าเจ้าสาว Evening Make - Up C.A.T/C.MC. 2012 " l...
บ้านนายไกร @ เรือนไทยทวีวัฒนา
บ้านนายไกร @ เรือนไทยทวีวัฒนา
บ้านนายไกร , เรือนไทยทวีวัฒนา , RUENTHAI TAWEEATANA , เรือนไทย , สถานที่แต่งงาน จัดเลี้ยง , รับจัดงานแต่งงานพิธีไทยเช้า ...
Detail of Love Shop_โดยห้องเสื้อดีเทลที่โคราช
Detail of Love Shop_โดยห้องเสื้อดีเทลที่โคราช
ด้วยมิตรภาพครับ ทีมงานร้านดีเทลที่โคราช ธงชัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด Tel:081-5737558 Face Book: Thongchai Phunsa-ng...
Chansa  Jewellery
Chansa Jewellery
Chansa Jewellery ใส่ใจทุกรายละเอียดในการผลิตเครื่องประดับแต่ละชิ้นเพื่อให้ได้สัญลักษณ์แทนความรักและความซื่อสัตย์ ที่คู...
 
แต่งงาน แต่งงาน แต่งงาน
Wedding Directory

Follow Us :
CONTACT US
ติดต่อลงโฆษณา Tel: 08 4117 5005, 08 9128 5005, 08 4871 2132
Email: weddinginlove.com@gmail.com , info@weddinginlove.com
LINE ID: wedinloveth
เพิ่มเพื่อน

Copyright@2017 www.weddinginlove.com. All Right Reserved.